ส่องเส้นทางการเรียนสู่โอกาสอาชีพ ‘ฉุกเฉินการแพทย์’ | Advertorial
- นักฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) คือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการด้านให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนที่จะส่งต่อผู้ประสบภัยให้แพทย์รักษา แต่ปัจจุบันยังคงมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อประชากร
- หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ มี 3 รูปแบบหลัก คือ ปริญญาตรี 4 ปี, ปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) 2 ปี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี โดยครอบคลุมการเรียนทฤษฎี การฝึกปฏิบัติ และการลงพื้นที่จริง เพื่อเตรียมความพร้อมประกอบวิชาชีพ
- บัณฑิตจากหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์สามารถเลือกทำงานได้อย่างหลากหลาย เช่น นักฉุกเฉินการแพทย์บนรถพยาบาล, ณ ที่เกิดเหตุ, ในห้องฉุกเฉิน, ในสนามแข่ง หรือเป็นผู้รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน
- ในปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยพะเยา, วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรืออาการป่วยเฉียบพลัน ทุกคนอาจคุ้นเคยกับภาพของเหล่านักฉุกเฉินการแพทย์และหน่วยกู้ภัยที่พร้อมเข้าช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จนนับว่าเป็นหนึ่งวิชาชีพที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตของคนในสังคม แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ นักฉุกเฉินการแพทย์ ยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากรแม้ว่าจะมีความต้องการสูง และหลายคนก็อาจจะยังไม่รู้จักกับอาชีพนี้มากนัก วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์และเส้นทางอาชีพของบัณฑิตในสายงานนี้
หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์เรียนอะไร?
ก่อนอื่นเลยต้องบอกก่อนว่าสาขาฉุกเฉินการแพทย์ไม่ใช่การเรียนเพื่อเป็นหมอหรือพยาบาล แต่เน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะ ดังนั้น การเรียนการสอนจึงมุ่งที่จะเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างทันท่วงที โดยหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก คือ หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สำหรับน้อง ๆ ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสายวิทย์-คณิต, หลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) 2 ปี สำหรับผู้ที่มีวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาฉุกเฉินการแพทย์หรือวุฒิเทียบเท่าที่ต้องการต่อยอดเพื่อรับวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพนักฉุกเฉินการแพทย์ และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี สำหรับนักเรียนที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
เรียนจบฉุกเฉินการแพทย์แล้วทำอาชีพอะไร?
หลายคนอาจสงสัยว่าเรียนจบหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์แล้วจะทำงานอะไรได้บ้าง นอกจากงานบนรถกู้ภัย พญ.เอม สิรวราภรณ์ อาจารย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายไว้ว่าสาขานี้มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือทางการแพทย์ขั้นสูง มีทักษะในการประเมินอาการและดูแลรักษาเบื้องต้น บัณฑิตจึงสามารถทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานในโรงพยาบาลหรือการปฏิบัติงานภาคสนาม เช่น
1. นักฉุกเฉินการแพทย์บนรถพยาบาล
หน้าที่หลักของนักฉุกเฉินการแพทย์บนรถพยาบาล คือการดูแลผู้ป่วยขณะเดินทางมายังโรงพยาบาล เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมขณะเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาล
2. นักฉุกเฉินการแพทย์ ณ จุดเกิดเหตุ
หนึ่งในบทบาทสำคัญของนักฉุกเฉินการแพทย์ คือการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ ไฟไหม้ หรือภัยพิบัติ ซึ่งจะต้องทำการประเมินผู้ประสบภัยและทำการรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล
3. นักฉุกเฉินการแพทย์ในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล
บางครั้งนักฉุกเฉินการแพทย์อาจต้องปฏิบัติในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ เนื่องจากต้องอาศัยทักษะหลากหลายด้าน เช่น การจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การทำหัตถการเบื้องต้น และการประสานงานกับทีมแพทย์เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้อง
4. ผู้รับแจ้งเหตุสถานการณ์
นอกเหนือจากการเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ ผู้ที่จบหลักสูตรนี้อาจรับหน้าที่ผู้รับแจ้งเหตุที่คอยรับสายฉุกเฉินเพื่อประเมินสถานการณ์ ก่อนทำการประสานงานกับทีมช่วยเหลือในพื้นที่ให้ไปถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที
5. นักฉุกเฉินการแพทย์ในสนามแข่งขันกีฬา
นอกจากนี้ อาจมีการไปเรียนต่อยอดด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อทำหน้าที่นักฉุกเฉินการแพทย์ในสนามแข่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ
อัปเดต! 8 มหาวิทยาลัยในไทยที่เปิดหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาฉุกเฉินการแพทย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาขาฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา
- สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง
- สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นักฉุกเฉินการแพทย์เป็นอาชีพสำคัญที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและสร้างความมั่นคงให้กับระบบสุขภาพ แต่ยังคงมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้อาชีพนี้เป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงาน เรียนจบแล้วมั่นใจได้ว่าจะไม่ตกงานแน่นอน!