Search
Close this search box.
วิธีการคุมกำเนิด

8 วิธีการคุมกำเนิด
| เลือกวิธีไหนปลอดภัย โอกาส
พลาดน้อย

 

  • การคุมกำเนิดมีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ การทานยาคุม การฉีดยาคุม การฝังยาคุม การใส่ห่วงคุมกำเนิด และการทำหมัน ซึ่งวิธีเหล่านี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโอกาสพลาดน้อย

  • อีกวิธีหนึ่งที่อยากแนะนำคือ “การใช้ถุงยางอนามัย” ที่คุมกำเนิดได้ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ อย่าให้ถุงยางรั่วเด็ดขาด!

  •  “การหลั่งนอก” และ “การนับหน้า 7 หลัง 7” เป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ ไม่แนะนำให้ทำ

หลายคนมีคำถามในใจหลายเรื่องเกี่ยวกับการคุมกำเนิด เช่น

  • ใส่ถุงยาง หลั่งนอก จะท้องไหม”
  • “มีเพศสัมพันธ์แล้วหลั่งข้างนอก แล้วมีอีกรอบ เสี่ยงท้องหรือเปล่า”
  • “ถ้าใส่ถุงยางต้องกินยาคุมไหม”  

 มาดูกันว่าแต่ละวิธีที่คุณเลือกนั้นเสี่ยงท้องมากน้อยแค่ไหน และถ้ารู้ว่าอันไหนป้องกันการตั้งครรภ์ได้มีประสิทธิภาพ คุณจะหายสงสัยเลยล่ะว่าวิธีที่คุณทำมีโอกาสพลาดหรือเปล่า 

การคุมกำเนิดด้วยการทานยาคุม

1. การทานยาคุม

การใช้ยาคุมเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อใช้อย่างถูกต้อง

          1.1 ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม เป็นยาคุมแบบแผงที่เราเห็นได้ทั่วไป บางยี่ห้อมีแค่ 21 เม็ด แล้วเว้นไปอีก 7 วันค่อยเริ่มทานแผงใหม่ แต่ส่วนใหญ่มี 28 เม็ด ซึ่ง 7 เม็ดสุดท้ายจะเป็นแป้งหรือวิตามิน เพื่อป้องกันการลืมกินยา

                 วิธีการทาน  ให้เริ่มทานตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา โดยนับวันแรกที่มีประจำเดือนเป็นวันที่ 1 หลังจากนั้นให้กินต่อเนื่องทุกวัน ในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน (แนะนำให้ทานก่อนนอน)

______________________

          1.2 ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (โปรเจสเตอโรน) เหมาะสำหรับผู้ให้นมบุตร

                วิธีการทาน  ต้องทานตรงเวลาและสม่ำเสมอกว่าชนิดฮอร์โมนรวม คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง สำหรับเอ็กซ์ลูตอน (Exluton) และสำหรับซีราเซท (Cerazette) คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

______________________

          1.3 ยาคุมฉุกเฉิน ควรใช้ในกรณีที่ฉุกเฉินจริง ๆ เช่น ลืมใส่ถุงยางป้องกัน ถุงยางหลุดหรือรั่ว หลั่งนอกไม่ทัน รวมถึงบุคคลที่ถูกล่วงละเมิดทางเทศหรือข่มขืน ในหนึ่งแผงมี 2 เม็ด

                 วิธีการทาน  เม็ดที่ 1 ให้ทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด อย่างช้า 72 ชั่วโมง ส่วนเม็ดที่ 2 ให้กินหลังจากเม็ดที่ 1 เมื่อเวลาผ่านไป 12 ชั่วโมง

                   *ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 แผง (4 เม็ด) ภายในรอบเดือนเดียว

การคุมกำเนิดด้วยวิธีฉีดยาคุม

2. การฉีดยาคุม

การฉีดยาคุมเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 99% โดยแพทย์จะฉีดยาคุมเข้ากล้ามเนื้อ วิธีนี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 3 เดือนหลังจากการฉีดยา

โดยทั่วไปการฉีดยาคุมมักจะฉีดภายใน 5 วันหลังจากประจำเดือนมา ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ในทันที แต่ถ้าไม่สามารถฉีดในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องใช้เวลา 7 วัน กว่าตัวยาจะออกฤทธิ์ ดังนั้น ในระยะเวลานี้หากมีเพศสัมพันธ์ก็ให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยไปก่อน

ข้อดี คือ สะดวกรวดเร็ว ราคาถูก ไม่ต้องทานยาคุม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีเพศสัมพันธ์ หากต้องการหยุดคุมกำเนิดก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แค่เพียงรอให้ประสิทธิภาพของยาหมดก่อน โดยปกติอาจใช้เวลา 6-8 เดือนหลังจาก 3 เดือนที่ฉีดไป แต่บางรายอาจต้องใช้เวลาเป็นปี

ข้อเสีย คือ ต้องไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถป้องการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ถ้าฉีดไปแล้วจู่ ๆ อยากมีลูกขึ้นมา จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก ต้องรอระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อน

     เหมาะกับ

  1. ผู้ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ระยะสั้นเพียง 3 เดือน
  2. ผู้ที่มักหลงลืมการทานยาคุมกำเนิด
  3. ผู้ที่ต้องการให้นมบุตร

     ไม่เหมาะกับ

  1. ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจกำลังตั้งครรภ์
  2. ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติช่วงมีประจำเดือนหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  3. ผู้ที่เป็นไมเกรน
  4. ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Thrombosis), เป็นโรคหลอดเลือดแดง (Arterial Disease), เป็นโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคตับ, มะเร็งเต้านม, เบาหวาน, โรคกระดูกพรุน เป็นต้น

3. การฝังยาคุม

การฝังยาคุมเป็นการคุมกำเนิดที่ได้ประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับการทำหมัน โดยแพทย์จะฝังหลอดยาขนาดเล็กเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนท่อนบน ซึ่งฮอร์โมนโปรเจสตินจะค่อย ๆ ปล่อยออกมาจากแท่งหลอดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไม่เกิดการตกไข่

การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ควรทำภายใน 5 วันแรกของการมีรอบเดือน จะได้ผลทันที! แต่หากฝังยาในวันถัดไปหรือวันอื่น ๆ ของรอบเดือน จะป้องกันได้หลังจากฝังยาไปแล้ว 7 วันขึ้นไป ดังนั้น ในระหว่างนี้ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน เช่น ใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

ข้อดี คือ ราคาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่อยู่ได้นาน 3-5 ปี (ประมาณ 2,500 – 5,000 บาท) เมื่อฝังยาคุมแล้วก็ไม่ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่น ๆ อีก ไม่ต้องทานยาคุม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีเพศสัมพันธ์ หากต้องการมีบุตรก็เอาออกได้ง่ายดาย และมีบุตรได้เร็วกว่าการฉีดยาคุม

ข้อเสีย คือ ไม่สามารถป้องการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ที่ฝังยาคุมประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ ซึ่งเป็นอาการปกติของปีแรกที่ฝังยา บางคนอาจมีประจำเดือนมากขึ้นหรือมาถี่ขึ้น และบางคนประจำเดือนอาจมาไม่ตรงเวลาหรือมาน้อย

     เหมาะกับ

  1. ผู้ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ระยะสั้น 3-5 ปี
  2. ผู้ที่มักหลงลืมการทานยาคุมกำเนิด
  3. ผู้ที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

     ไม่เหมาะกับ

  1. ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจกำลังตั้งครรภ์
  2. ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติช่วงมีประจำเดือนหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  3. ผู้ที่เป็นไมเกรน
  4. ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Thrombosis), เป็นโรคหลอดเลือดแดง (Arterial Disease), เป็นโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคตับ, มะเร็งเต้านม, เบาหวาน, โรคกระดูกพรุน เป็นต้น 
การคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัย

4. การใช้ถุงยางอนามัย

การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่หลายคนย้ำนักย้ำหนาว่าใช้เถอะ! เพราะสามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การใช้ถุงยางอนามัย ถ้าจะให้ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเลือกขนาดที่พอดีกับอวัยวะเพศ อย่ามั่นใจว่าใหญ่!  เพราะถ้าหลวมเกินไปถุงยางอาจหลุดได้ ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ น้ำอสุจิอาจเล็ดลอดออกมาตามช่องว่างของถุงยาง เรียกง่าย ๆ ว่าทะลักนั่นเอง

ใช้มือฉีกเท่านั้น! ระวังอย่าให้เล็บหรือแหวนเกี่ยว ห้ามใช้กรรไกรหรือฟันฉีกเด็ดขาด! เพราะถุงยางอาจขาดหรือรั่วได้ ถ้าต้องการความหล่อลื่น ให้ใช้เจลหล่อลื่นที่ละลายในน้ำโดยเฉพาะ ห้ามใช้สารหล่อลื่นที่ละลายในน้ำมัน เช่น ออยทาผิวเด็ก วาสลีน โลชั่นทาผิว น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น

การคุมกำเนิดด้วยวิธีการนับหน้า 7 หลัง 7

5. การนับหน้า 7 หลัง 7

การนับหน้า 7 หลัง 7 เป็นการคุมกำเนิดที่ไม่อยากแนะนำสักเท่าไร เพราะการใช้วิธีนี้ต้องเป็นคนที่ประจำเดือนมาตรงกันทุกเดือนเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรวันตกไข่ก็เปลี่ยนแปลงได้หากมีอาการเครียด เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาทอย่างแรง! เพราะเสี่ยงตั้งครรภ์สูงถึง 24%

วิธีการนับหน้า 7 หลัง 7 คือ ให้เริ่มจากวันแรกที่มีประจำเดือน สมมติประจำเดือนของเราจะมาทุกวันที่ 15  

ระยะปลอดภัยหน้า 7 ก็คือวันที่ 8, 9, 10, 11, 12, 13, 14

ระยะปลอดภัยหลัง 7 ก็คือวันที่ 15, 16, 17, 18, 19, 20, 21 (นับตั้งแต่วันที่ 15 เลย)

ดังนั้น ช่วงที่มีเพศสัมพันธ์ได้ก็คือวันที่ 8 – 21 แต่ในระหว่างนี้เรายังจะเป็นประจำเดือนอยู่ ไม่ควรฝ่าไฟแดง เพราะอาจติดเชื้อได้ ให้ทำหลังจากที่หมดประจำเดือนแล้ว

การคุมกำเนิดด้วยการหลั่งนอก

6. การหลั่งนอก

จะเรียกว่าการคุมกำเนิดก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่ส่วนใหญ่ก็นิยมทำกัน เพราะเป็นวิธีที่สะดวก โดยเฉพาะคนไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยหรืออาจแพ้ถุงยาง

แต่ถึงอย่างไร การหลั่งนอกก็ยังเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูง เพราะในระหว่างที่นำอวัยวะเพศออกมาจากช่องคลอดก็อาจมีอสุจิบางส่วนหลั่งออกมาแล้ว ทำให้อสุจิเหล่านั้นตกค้างอยู่ภายใน และมีโอกาสที่จะเข้าไปปฏิสนธิได้เช่นกัน

นอกจากนี้ น้ำหล่อลื่นที่ออกมาจากอวัยวะเพศชายระหว่างมีเพศสัมพันธ์ก็จะมีอสุจิปะปนออกมาด้วยอยู่แล้ว แม้จะน้อยแต่ก็เสี่ยงตั้งครรภ์ได้ และหากการหลั่งนอกเกิดขึ้นใกล้กับช่องคลอด ก็มีโอกาสที่อสุจิจะเข้าไปด้านในของช่องคลอดด้วย เพราะน้ำหล่อลื่นของฝ่ายหญิงจะทำให้อสุจิเคลื่อนที่ได้สะดวกขึ้น

เพราะฉะนั้น การคุมกำเนิดโดยการหลั่งนอกเป็นแค่หนึ่งทางเลือก “ที่ไม่ควรเลือก”

ดังนั้น หากใครหลั่งนอกแล้วทำต่อ ก็มีโอกาสท้องได้ แต่ถ้าใส่ถุงยางแล้วหลั่งนอก อันนี้เสี่ยงน้อยมาก ๆ (กรณีถุงยางไม่แตก รั่ว หรือฉีกขาด)

7. การใส่ห่วงคุมกำเนิด

ห่วงคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเป็นอันดับ 3 ของวิธีคุมกำเนิดชั่วคราว เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่ใหญ่มาก วิธีการคือแพทย์จะใส่ห่วงคุมกำเนิดนี้เข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อไม่ให้ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิของอสุจิกับไข่เข้าไปฝังตัว ฟังดูแล้วอาจจะน่ากลัวไปนิด! แต่วิธีการคุมกำเนิดนี้มีโอกาสล้มเหลวในการป้องกันเพียง 0.2% เท่านั้น (หากเป็นห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบฮอร์โมน) ก็คือ 2 ใน 1,000 คนนั่นเองที่จะพลาด แต่ถ้าเป็นห่วงคุมกำเนิดแบบหุ้มทองแดง อัตราการล้มเหลวก็จะมีเพียง 0.6%

ข้อดี คือ ไม่ต้องทานยาคุม ไม่ต้องฉีดยาทุก 3 เดือน ไม่มีผลของฮอร์โมน ไม่มีปัญหาเรื่องระดูกะปริบกะปรอย น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ไม่ทำให้เกิดสิวฝ้า

ข้อเสีย คือ ต้องคอยตรวจเช็กสายห่วงอย่างสม่ำเสมอว่ามีการหลุดหรือไม่ โดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์ และไม่สามารถป้องการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

     เหมาะกับ

  1. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เพราะการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนมีโอกาสทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
  2. ผู้ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ระยะสั้น 3-5 ปี
  3. ผู้ที่มักหลงลืมการทานยาคุมกำเนิด

     ไม่เหมาะกับ

  1. ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ หากใส่ไปอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรสูง
  2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกและอุ้งเชิงกราน
  3. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิต้านทานและโรคหัวใจ
การคุมกำเนิดด้วยการทำหมัน

8. การทำหมัน

การทำหมันเป็นวิธีการคุมกำเนิดโดยการทำให้ท่อนำไข่อุดตัน เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิสนธิ มีหลายรูปแบบคือ การใช้ไฟฟ้าจี้, การผูกและตัด, การใช้คลิปหนีบ หรือใช้วงแหวนพลาสติกรัดทางเดินของท่อนำไข่

สำหรับผู้หญิง จะมีทั้งการทำหมันเปียก (หลังคลอดภายใน 6 สัปดาห์) และการทำหมันแห้ง (พ้นระยะหลังคลอดช่วง 6 สัปดาห์ไปแล้ว) สำหรับทำหมันแห้งการผ่าตัดในการหาท่อนำไข่จะยากกว่าการทำหมันเปียก แต่ก็ใช้เวลาไม่นาน

สำหรับผู้ชาย การทำหมันจะง่ายกว่าผู้หญิงมาก เพียงแค่ตัดหรือรัดท่อนำอสุจิ และยังสามารถทำได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล

ข้อดี คือ เป็นการคุมกำเนิดที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และยังประหยัดในระยะยาว ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการคุมกำเนิด ไม่มีผลของฮอร์โมน ไม่ต้องทานยาคุม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีเพศสัมพันธ์

ข้อเสีย คือ ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากเป็นการผ่าตัดแบบเปิดจะมีแผลเป็นที่หน้าท้อง และถ้าการคุมกำเนิดล้มเหลวก็มีโอกาสที่จะท้องนอกมดลูกสูง (แต่โอกาสที่หมันจะหลุดนั้นมีน้อยมาก เพียง 0.2%)

     เหมาะกับ

  1. ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดแบบถาวร
  2. ผู้ที่มีโรคติดต่อทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้ทารกในครรภ์เป็นอันตรายหรือเกิดมาไม่สมบูรณ์
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่การตั้งครรภ์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
  4. ผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตหรือสติปัญญา (ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองตามกฎหมาย)

     ไม่เหมาะกับ

  1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ หากมีอาการกลัวจะวิตกกังวลหรือเครียดง่าย อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ถึงขั้นหัวใจวายได้
  2. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาสลบ
  3. ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดจากการใช้ยากล่อมประสาทและยาชา
  4. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ห้ามเลือดไม่ได้ แผลหายช้า และติดเชื้อได้ง่าย
  5. ผู้ป่วยโรคปอดที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบหืด ปอดอักเสบ วัณโรค ควรรักษาให้หายก่อน เพราะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
  6. ผู้ที่ป่วยมีอาการติดเชื้อและมีไข้สูง หากทำการผ่าตัดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามได้

การเลือกวิธีการคุมกำเนิดเราจะเลือกวิธีไหนก็ได้ตามระยะเวลาที่อยากป้องกัน ซึ่งมีหลายวิธีให้เราเลือก แต่ถ้าอยากป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัย และการคุมกำเนิดไม่อยากแนะนำก็คือ “การหลั่งนอก” และ “การนับหน้า 7 หลัง 7” เพราะเสี่ยงตั้งครรภ์สูง

SHARE

RELATED POSTS