Search
Close this search box.
สิงคโปร์ ต้นแบบของประเทศที่รักษ์โลกมากที่สุด

สิงคโปร์ ต้นแบบประเทศที่รักษ์โลกมากที่สุด

  • สิงคโปร์ ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก มีสวนสาธารณะมากกว่า 350 แห่ง
  • ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงประเทศตัวเองโดยใช้แนวคิดและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความเย็นส่วนกลาง ระบบแสงสว่างอัจฉริยะ ระบบลำเลียงของเสียจากครัวเรือน ฯลฯ
  • ในเต็งกาห์ยังสร้าง ‘เมืองปลอดรถยนต์แห่งแรกในประเทศ’ เพื่อป้องกันมลพิษลอยขึ้นสู่บรรยากาศ แถมส่งเสริมให้คนใช้จักรยานและรถไฟฟ้า ที่สำคัญคือสามารถเดินทางข้ามเมืองได้สะดวก
  • นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันตรวจสอบการใช้พลังงานของตัวเอง Central Park ที่มีทางเดินเชื่อมป่า และพื้นที่เกษตรตัดผ่านที่อยู่อาศัย เพื่อให้เกษตรกรได้ขายสินค้าออร์แกนิก

หากถามว่าประเทศไหนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ตอนนี้คงต้องยกให้ “สิงคโปร์” แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่พื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของเมืองนั้นถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้

จริง ๆ แนวคิด City in the garden พื้นที่สีเขียวในสิงคโปร์เริ่มมาตั้งแต่ปี 1965 เมื่อครั้งที่ “ลี กวน ยู” เป็นนายกรัฐมนตรี เขามีวิสัยทัศน์ว่าอยากเห็นสิงคโปร์เต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า เพื่อที่ประชาชนในประเทศจะมีความสุขและคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงได้วางกลยุทธ์และออกแบบผังเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวตั้งแต่วันนั้น จนวันนี้กลายเป็นเมืองที่สิ่งแวดล้อมดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

อีกทั้งภายในปี 2030 ยังมีแพลนว่าจะปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 1 ล้านต้น ขยายพื้นที่ปั่นจักรยาน แบนรถที่ใช้น้ำมันดีเซล

ปี 2025 ยังมีแพลนว่าจะลดขยะฝังกลบต่อครัวเรือน 30% และเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ รับผิดชอบต่อขยะที่ตัวเองสร้าง อีกทั้งยังสนับสนุนให้หันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 5 เท่า

จะว่าไปใคร ๆ ก็ตั้งเป้าหมายแบบนี้ได้ ทำได้จริงไหมก็อีกเรื่อง แต่สำหรับสิงคโปร์นั้นไม่ใช่! เพราะมีหลายอย่างที่เขาเปลี่ยนแปลงประเทศตัวเองให้เป็นประเทศสีเขียว จะมีอะไรเจ๋ง ๆ บ้างไปดูกันเลย

Singapore สิงคโปร์ ประเทศรักษ์โลก

เมืองปลอดรถยนต์แห่งแรกในประเทศ ในเมืองเต็งกาห์ ที่บนถนนจะไม่มีรถวิ่ง แต่ให้ไปวิ่งเส้นทางใต้ดินแทน เพื่อป้องกันมลพิษจากท่อไอเสียลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

ระบบทำความเย็นส่วนกลาง ที่ลดการใช้พลังงานได้ถึง 30% ช่วยให้ผู้อาศัยในแฟลตประหยัดค่าไฟ ไม่ต้องเปิดแอร์อุณหภูมิต่ำ ๆ ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 50 เท่า

สิงคโปร์มีเครื่องปรับอากาศเยอะมาก อุณหภูมิโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 27 องศาเซลเซียส และทั้งปีมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งหน่วยทำความเย็นต่อหัวมากกว่าที่อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ระบบแสงสว่างอัจฉริยะ ที่ปรับแสงสว่างอัตโนมัติตามบริเวณต่าง ๆ ตรงไหนมีแสงสว่างเพียงพอแสงไฟจะจ้าน้อยลง ตรงไหนมืดหน่อยก็ปรับให้สว่าง เป็นการประหยัดพลังงานที่ชาญฉลาดทีเดียว

ระบบลำเลียงของเสียแบบนิวเมติก (PWCS) ที่รวบรวมขยะในครัวเรือนอัตโนมัติโดยใช้อากาศความเร็วสูงดูด ช่วยให้สภาพแวดล้อมสะอาด ลดปัญหากลิ่น ขยะปลิวหล่น และสัตว์หรือแมลงรบกวน

แอปพลิเคชันตรวจสอบการใช้พลังงานของตัวเอง ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดูได้ว่าตัวเองใช้พลังงานแต่ละวันไปเท่าไร

ส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานและขนส่งรถไฟฟ้า มีทางสำหรับจักรยานและรถไฟฟ้าดี ๆ ผู้คนสามารถเดินทางข้ามเมืองได้สะดวก เป็นวิธีที่ลดการเกิดมลพิษให้น้อยที่สุด

Central Park สวนสาธารณะใจกลางเมืองที่มีทางเดินเชื่อมป่า (Forest Corridor) ทำให้คนได้สัมผัสกับธรรมชาติที่แท้จริง โดย Central Park จะมีทั้งพื้นที่นันทนาการ มีทิวทัศน์สวยงาม เมื่อถูกเชื่อมกับป่าแล้วถือว่าเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ได้เลย

สวนสาธารณะมากกว่า 350 แห่ง ซึ่งมากที่สุดในโลก 

พื้นที่เกษตรตัดผ่านที่อยู่อาศัย เขต Plantation เป็นพื้นที่สำหรับทำสวน ทำการเกษตรในชุมชน มีการจัดกิจกรรมให้เกษตรกรได้ขายสินค้าออร์แกนิก

Previous slide
Next slide

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับต้นไม้ในประเทศสิงคโปร์

  1. ถ้าสถาปนิกจะออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีพื้นที่สีเขียวเสมอ โดยต้องทำงานร่วมกับรุกขกร หากในพื้นที่มีต้นไม้อยู่แล้ว ต้องออกแบบอาคารให้หลบหลีกต้นไม้ หรือสร้างสวนบนดาดฟ้า (Roof Garden) สวนแนวตั้ง (Vertical Greenery) ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวในอาคาร (Indoor Greenery)

รุกขกร คือ ผู้ที่มีหน้าที่จัดการและดูแลต้นไม้ มาจากคำว่า “รุกข” แปลว่า ต้นไม้

  1. สายไฟทั้งหมดของประเทศสิงคโปร์จะอยู่ใต้ดิน เพื่อไม่ให้ต้นไม้ชนสายไฟ และจะอยู่กลางถนนในส่วนที่รถวิ่ง เพื่อเว้นที่ไว้ให้รากต้นไม้ริมถนน

  2. หากใครเผลอเด็ดใบไม้หรือดอกไม้แค่หนึ่งใบอาจถูกปรับถึง 2,000 ดอลลาร์ และห้ามเก็บไม่ให้ที่หล่นอยู่ตามพื้นด้วย

  3. สิงคโปร์จะคำนึงเรื่องความเหมาะสมของต้นไม้แต่ละชนิดกับพื้นที่ เช่น การชอนไชของราก สภาพดิน อากาศ ดังนั้น ต้นไม้ตามริมถนนของสิงคโปร์จะไม่ค่อยเป็นสายพันธุ์เดียวตลอดทั้งเส้น และถ้าปลูกพืชชนิดเดียวกัน เวลามีโรคหรือแมลงระบาดจะเสี่ยงสูญเสียทั้งหมด

  4. สิงคโปร์ไม่อนุญาตให้โค่นต้นไม้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะถือเป็นต้นไม้อนุรักษ์ ถ้าจะโค่นต้องขออนุญาตรุกขกรก่อน และต้องปลูกทดแทนด้วยอัตราส่วนที่มากกว่า

  5. สิงคโปร์มีฐานข้อมูลต้นไม้ทุกต้น และจะได้รับการตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ มีการเช็กตั้งแต่สภาพดิน รวมถึงมีเครื่องสแกนดูความหนาแน่นของเนื้อไม้

  6. รุกขกรทุกคนในสิงคโปร์ต้องมีใบรับรอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าต้นไม้ทุกต้นในประเทศสิงคโปร์จะได้รับการตัดแต่งอย่างถูกวิธี

นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างชาญฉลาดที่สิงคโปร์นำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วย อดชื่นชมไม่ได้ว่านี่คือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่น่าสนใจคือปี 2020 ที่ผ่านมา สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 20 ของโลกที่ทุ่มงบให้กับ R&D แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องเป็นนวัตกรรมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มารอดูกันว่าเมืองเล็กแต่มีใจรักโลกยิ่งใหญ่นี้จะเป็นยังไงต่อไป