Search
Close this search box.
ไวรัสโคโรนา โควิด-19

ไม่ใช่แค่วิธีป้องกัน
แต่ต้องรู้ทันทุกเรื่องของไวรัสโคโรนา

ดูเหมือนว่าเราคงต้องอยู่กับไวรัสโคโรนา 2019 ไปอีกยาว เพราะนี่ก็มาถึงระลอกที่ 3 ถือว่ารุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนต่างก็รู้วิธีป้องกันตัวเองอยู่แล้ว และวัคซีนก็กำลังทยอยเข้ามา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะไม่ว่าเราจะป้องกันตัวเองดีแค่ไหน ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ทุกเมื่อ

Short Recap เลยไปสืบมาว่าทำไมเราถึงติดเชื้อได้ “การ์ดก็ไม่เคยตกเลย แมสก์ก็ใส่ตลอด” แต่ก่อนจะไปดู อย่าลืมทบทวนการแพร่กระจายของไวรัสและแนวทางป้องกันเบื้องต้นกันก่อนนะ จะได้รู้ว่าเราพลาดตรงไหนหรือเปล่า

ไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) แพร่กระจายได้อย่างไร

การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาส่วนใหญ่จะมาจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายของผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะผ่านการพูด ไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งของที่เปื้อนสารคัดหลั่ง

สารคัดหลั่งคือ สารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ น้ำตา น้ำมูก น้ำลาย เยื่อบุคอหอย เหงื่อ เลือด น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำอสุจิ ปัสสาวะ และอุจจาระ

เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่พบว่าปนเปื้อนในสารคัดหลั่งแต่ละชนิด

เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่พบว่าปนเปื้อนในสารคัดหลั่งแต่ละชนิด

  • น้ำมูกประมาณ 90%
  • น้ำลายประมาณ 80%
  • อุจจาระประมาณ 70%
  • เยื่อบุคอหอยประมาณ 60%
  • เลือดประมาณ 10%
  • น้ำตาประมาณ 1%
  • ยังไม่พบรายงานตรวจพบเชื้อโควิดที่เหงื่อ สารคัดหลั่งในช่องคลอด และน้ำอสุจิ

แนวทางป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่ไอ, จาม และใส่หน้ากากอนามัยไม่มิดชิด
  2. เลี่ยงการไปสถานที่แออัด หรือที่ที่มีความเสี่ยงของโรค
  3. ใส่หน้ากากอนามัยให้มิดชิด ไม่เอาไว้ใต้คางหรือเปิดให้เห็นจมูกเวลาอยู่ข้างนอก และไม่ควรใช้ซ้ำ!
  4. เลี่ยงสัมผัสสิ่งของ-สถานที่สาธารณะ เช่น ราวจับต่าง ๆ ประตู เงินสด ตู้ ATM ฯลฯ
  5. ไม่นำมือมาสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะตา จมูก ปาก
  6. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อน ส้อม
  7. รับประทานอาการที่ปรุงสุก
  8. ถึงบ้านให้ถอดรองเท้าไว้ข้างนอก และรีบเปลี่ยนชุด
  9. อยู่บ้านเมื่อรู้สึกตัวเองไม่สบาย
  10. ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
ข้อควรรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา (Covid-19)

รู้หรือไม่ ? ล้างมือแล้วแต่เชื้ออาจยังอยู่  

หากใช้เจลล้างมือที่โดนแดดนาน ๆ แอลกอฮอล์จะระเหยและเสื่อมสภาพ ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้ออาจน้อยกว่าการล้างมือด้วยน้ำเปล่า

ทางที่ดีควรล้างด้วยสบู่โดยถูมือให้ทั่ว ทั้งหลังมือ ซอกนิ้ว ข้อมือ หัวแม่มือ และใต้เล็บ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที หรือร้องเพลง Happy birthday หรือเพลงช้างไปด้วย 2 รอบ และควรเช็ดมือให้แห้งด้วยทิชชูหรือผ้าสะอาด เพราะเชื้อจะแพร่กระจายจากผิวเปียกได้ดีกว่าผิวแห้ง

รู้หรือไม่ ? แอลกอฮอล์ที่ใช้ไม่ควรเข้มข้นน้อยหรือมากกว่า 70-90%

แอลกอฮอล์ล้างมือหากเข้มข้นน้อยไปจะไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ แต่ถ้าเข้มข้นกว่า 90% ก็จะระเหยเร็วเกินไป ไม่สามารถแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์แล้วฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้เช่นกัน

รู้หรือไม่ ? ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการอาจแพร่เชื้อได้เร็วกว่า

นี่คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับตอนนี้ เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาอาจแพร่ไปยังผู้อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะระยะแรกที่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นมากที่สุด ซึ่งผู้ป่วย 1 คน อาจนำเชื้อไปติดคนอื่นได้อีก 3 – 4 คน ทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากกว่าที่คิด ที่น่าตกใจคือผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการความเข้มข้นของเชื้อไวรัสโคโรนาในสารคัดหลั่งทางเดินหายใจมากกว่าผู้ป่วยที่แสดงอาการ

รู้หรือไม่ ? วัคซีนโรคอื่น ยาปฏิชีวนะ ไม่สามารถป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ได้!

ความเชื่อที่ว่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสปอดอักเสบแล้วจะป้องกันโควิดได้ เพราะอาการคล้าย ๆ กันเป็นความเชื่อที่ผิด! รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้เช่นกัน เพราะกำจัดได้แค่เชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

รู้หรือไม่ ? โควิดเป็นแล้วเป็นอีกได้!

ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่รักษาโควิดหายแล้ว มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก แต่โอกาสน้อยมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กลับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าระบบกำจัดไวรัสที่ยังหลงเหลืออยู่ทำงานได้ดีเพียงใด

อย่างไรก็ตาม หากไวรัสมีการกลายพันธุ์ ร่างกายอาจต่อสู้กับเชื้อใหม่ไม่ได้ เพราะจดจำแค่ไวรัสตัวเดิม

รู้จัก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่าง ๆ

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) พบครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษที่อยู่บนผิวไวรัส ทำให้จับกับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น จนเชื้อกระจายไปที่อเมริกาและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) จับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น และลดการตอบสนองต่อวัคซีน แต่ยังไม่มีรายงานว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์บราซิล (P.1) คล้ายกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แพร่เชื้อเร็ว ติดซ้ำได้!

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อินเดีย แบ่งเป็น 2 แบบ คือ

สายพันธุ์อินเดียกลายพันธุ์ 2 จุด ทำให้มีการกระจายตัวสูงขึ้น

สายพันธุ์อินเดียกลายพันธุ์ 3 จุด หรือ โควิดสายพันธุ์เบงกอล ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงเหมือนสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อันตรายกว่าเดิมหรือไม่ ?

ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กล่าวมาจะทำให้กลุ่มผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงขึ้น เพียงแต่ทำให้คนติดเชื้อง่ายกว่าเดิม ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม่แต่วัยหนุ่มสาวที่คนส่วนใหญ่คิดว่าติดเชื้อยากกว่าเด็กและผู้สูงอายุ

ที่น่ากังวลคือไวรัสโคโรนาพวกนี้จะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ อาจทำให้คนที่รับวัคซีนแบบเดิมที่ยังไม่ได้ปรับปรุงได้รับการป้องกันน้อยกว่า

เห็นแบบนี้แล้ว หลายคนต้องป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวดแล้วล่ะ และควรติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ตามทันเจ้าวายร้ายโคโรนา

สำหรับน้อง ๆ นักเรียนหรือคนทั่วไปที่อยากหาความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เนื้อหาทันสมัย ละเอียด เข้าใจง่าย สามารถเข้าไปหาความรู้ได้ที่ คลังความรู้ Scimath สสวท. มีหลากหลายอย่างให้เลือกดูเลย ทั้งบทความ บทเรียน วีดิทัศน์ โครงงาน E-books และอื่น ๆ อีกมากมาย

SHARE

RELATED POSTS