Search
Close this search box.
Cyberbullying คืออะไร

ส่องสัญญาณ! Cyberbullying คืออะไร? รู้ไว รับมือทัน

  • เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ผู้คนก็ใช้โลกออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน หรือที่เรียกว่า Cyberbullying และสร้างบาดแผลให้กับเหยื่อมากยิ่งขึ้น จนเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมกำลังเผชิญ
  • Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นในหลากหลายรูปแบบบนช่องทางออนไลน์ นำไปสู่ผลกระทบต่อเหยื่อทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์
  • หลักการง่าย ๆ ในการรับมือกับ Cyberbullying มีดังนี้ STOP, BLOCK, TELL, REMOVE และ BE STRONG
  • นอกจากการรับมือกับ Cyberbullying ด้วยตนเองแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และคนใกล้ตัวก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้

‘บูลลี่ขำ ๆ แต่เหยื่อช้ำจริง’ Cyberbullying คือปัญหาใหญ่ที่ผู้คนกำลังเผชิญในยุคที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้การกลั่นแกล้งผู้อื่นเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายด้วยความคึกคะนองแต่ทิ้งความเจ็บปวดให้เหยื่อของ Cyberbullying เป็นระยะเวลานาน วันนี้ Short Recap จะพาไปทำความรู้จักกันว่า Cyberbullying คืออะไร เพื่อเช็กว่าตอนนี้เรากำลังตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์อยู่หรือเปล่า และควรรับมืออย่างไรดี

ทำความรู้จัก Cyberbullying คืออะไร?

Cyberbullying คือ

Cyberbullying หรือการระรานทางไซเบอร์ ถือเป็นการกลั่นแกล้งให้ร้ายผู้อื่นบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในการส่งต่อความรุนแรง เช่น ส่งข้อความว่าร้าย โพสต์ภาพตัดต่อให้อับอาย รวมถึงแอบอ้างเพื่อใช้ประโยชน์จากตัวตนของคนอื่น เป็นต้น

เช็กด่วน Cyberbullying คือพฤติกรรมแบบไหน?

รูปแบบพฤติกรรม Cyberbullying

ชวนดู 7 รูปแบบของ Cyberbullying คืออะไรบ้าง เพื่อให้รู้เท่าทันว่าตอนนี้เรากำลังตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying อยู่หรือไม่

  1. Cyberbullying ที่มาในรูปแบบการก่อกวนหรือข่มขู่ ได้รับข้อความหรือโพสต์คุกคามซ้ำ ๆ สร้างความรำคาญอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้การถูกข่มขู่บนโลกออนไลน์ก็ส่งผลให้เรารู้สึกหวาดกลัวในชีวิตจริงอีกด้วย
  2. Cyberbullying ที่มาในรูปแบบการว่าร้าย ใส่ความ หรือแกล้งแหย่ โพสต์ข้อความด่าทอ หยาบคาย หรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เพื่อทำให้เหยื่อรู้สึกเจ็บช้ำและอับอาย
  3. Cyberbullying ที่มาในรูปแบบการเปิดเผยความลับของผู้อื่นบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อประจานหรือต้องการทำให้เหยื่ออับอาย
  4. Cyberbullying ที่มาในรูปแบบการกีดกันออกจากกลุ่ม มีความเกลียดชังต่อเหยื่อ นำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือในการแบนหรือแอนตี้เป็นกลุ่มคณะ รวมไปถึงในชีวิตจริงด้วย
  5. Cyberbullying ที่มาในรูปแบบการแอบอ้าง โดยการสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียขึ้นมาใหม่ผ่านโพรไฟล์ของคนอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง เพื่อนำไปใช้ในทางเสื่อมเสีย เช่น โพสต์ภาพหรือข้อความหยาบคาย ใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายต่อเจ้าของบัญชีตัวจริง
  6. Cyberbullying ที่มาในรูปแบบการขโมยอัตลักษณ์ เป็นอีกขั้นของการนำข้อมูลเหยื่อไปใช้ทางเสียหาย โดยวัตถุประสงค์ของพฤติกรรม Cyberbullying รูปแบบนี้เป็นการมุ่งเน้นหาผลประโยชน์ให้ตนเอง เช่น นำข้อมูลของผู้อื่นไปแอบอ้างเพื่อหลอกเอาเงิน
  7. Cyberbullying ที่มาในรูปแบบการล่อลวง เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าหาเหยื่อ แล้วหลอกลวงให้ทำสิ่งที่ไม่ดี หรือเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ

Cyberbullying คือ บาดแผลที่สร้างความเจ็บปวดในทุกด้าน

Cyberbullying คือวงจรที่ไม่มีวันจบสิ้น ต่อให้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังคงทิ้งบาดแผลไว้ให้เหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งร่องรอยเหล่านี้สามารถวนกลับมาทำร้ายเหยื่อได้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น…

ผลกระทบของ Cyberbullying
  • ทางด้านจิตใจ

การโดนระรานบ่อย ๆ อาจทำให้เหยื่อรู้สึกอับอายจนทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง เกิดอาการหวาดระแวงในการใช้ชีวิต และนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น

  • ทางด้านร่างกาย

Cyberbullying ไม่เพียงแต่ทำร้ายจิตใจของเหยื่อเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น เกิดอาการเหนื่อยล้า เครียด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เจ็บป่วย ในบางครั้งอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ด้วย

  • ทางด้านอารมณ์

แน่นอนว่าการโดน Cyberbullying คงทำให้เหยื่ออารมณ์เสียอยู่ไม่น้อย การเห็นภาพหรือข้อความระรานอาจทำให้เหยื่อรู้สึกผิด ละอายใจ อารมณ์อ่อนไหว หรือสูญเสียความหลงใหลต่อสิ่งที่ชอบไปเลยก็ได้

ตกเป็นเหยื่อควรรับมืออย่างไร? วิธีที่ถูกต้องในการรับมือกับ Cyberbullying คือการเมินจริงหรือ?

เมื่อพบว่าเรากำลังโดนระราน ‘อย่าอยู่เฉยถ้าโดนบูลลี่’ มาดู 5 วิธีการรับมือ Cyberbullying กันเถอะ

วิธีรับมือ Cyberbullying
  • STOP

‘โดนกระทำ แต่ยังต้องใจเย็น’ วิธีการแรกของการรับมือกับ Cyberbullying คือ การหักห้ามใจไม่ตอบโต้กับข้อความกลั่นแกล้ง เพื่อยับยั้งความรุนแรงไม่ให้สถานการณ์แย่ลง บางครั้งการเอาคืนก็ไม่ใช่ทางออกเสมอไป เพราะถ้าตอบโต้กลับไปซ้ำ ๆ อาจทำให้เรากลายเป็นฝ่าย Cyberbullying เสียเอง

  • BLOCK

วิธีจัดการ Cyberbullying อย่างอยู่หมัดหากโดนกลั่นแกล้งบ่อย ๆ คือการตัดช่องทางการติดต่อไปเลย การบล็อกก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เราโดน Cyberbullying ซ้ำอีก แต่ถ้าบล็อกไปแล้วผู้กระทำก็ยังหาช่องทางในการระรานอยู่ดีให้พักการเล่นโซเชียลไปก่อน

  • TELL

เมื่อรู้สึกว่าเริ่มรับมือด้วยตนเองไม่ไหว การเล่าให้คนที่เชื่อใจได้ฟัง อาจช่วยระบายความกังวลหรือช่วยแก้ปัญหาได้ รวมไปถึงในกรณีที่การ Cyberbullying มีผลทางด้านกฎหมายการแจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ก็จะเป็นการยับยั้ง Cyberbullying ได้อย่างเด็ดขาด และถ้าพบว่าสภาพจิตใจไม่มั่นคงควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือด้านจิตใจ

  • REMOVE

‘เห็นซ้ำ ๆ มีแต่ช้ำใจ’ อีกวิธีการป้องกันความเจ็บปวดเดิม ๆ ของ Cyberbullying คือการลบภาพหรือข้อความกลั่นแกล้งที่สร้างบาดแผลให้เหยื่อ

  • BE STRONG

เจอคำพูดแย่ ๆ แต่จะแคร์ทำไม สิ่งสำคัญในการข้าม Cyberbullying คือจิตใจ ดังนั้น ความอดทนและเข้มแข็ง ต่อสู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่จมอยู่กับปัญหา นำมาเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตต่อไปจะช่วยให้เราเข้มแข็งและผ่านมันไปได้

ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของการรับมือกับ Cyberbullying คือตนเอง แต่ถ้าได้รับความร่วมมือจากคนรอบข้างก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ก้าวข้ามความเจ็บปวดไปได้อย่างมีกำลังใจ

บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และคนใกล้ตัวในการรับมือกับ Cyberbullying
  • พ่อแม่ ผู้ปกครอง คือคนที่ควรปลูกฝังความเข้าใจต่อการใช้งานและภัยอันตรายบนโลกออนไลน์ให้กับลูกหลาน และที่สำคัญควรสังเกตพฤติกรรมอยู่เสมอ เพราะส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะไม่ค่อยรู้ว่าลูกหลานกำลังตกเป็นเหยื่อ แล้วอย่าลืมเข้าไปพูดคุยอย่างมีเหตุผล มีเวลาคุณภาพให้ครอบครัว เพื่อดูแลสภาพจิตใจและแก้ปัญหาไปด้วยกัน
  • ครู ควรสอนให้เด็กรู้เท่าทันว่า Cyberbullying คืออะไร และไม่ควรมองว่าการกลั่นแกล้งกันของเด็กเป็นแค่เรื่องเล่น ๆ เพราะเรื่องเล็กในวัยเด็กอาจฝังอยู่ในใจเหยื่อไปอีกยาวนาน
  • คนใกล้ตัว ควรสังเกตสัญญาณของ Cyberbullying หากพบว่าคนรู้จักมีอาการที่เข้าข่ายเป็นเหยื่อให้ยืนมือเข้าช่วยเหลือในทันที

ในโลกอินเทอร์เน็ตที่ความเกลียดชังถูกส่งต่ออย่างง่ายดาย Cyberbullying อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด ดังนั้นควรหมั่นสังเกตสัญญาณว่าตอนนี้คุณเข้าข่ายตกเป็นเหยื่อของระรานทางไซเบอร์หรือไม่ เพื่อการป้องกันและรับมืออย่างทันท่วงที

SHARE

RELATED POSTS